ประจักษ์พยานและการเปลี่ยนใจเลื่อมใส

ประจักษ์พยานและการเปลี่ยนใจเลื่อมใส

มีความแตกต่างระหว่างการได้รับประจักษ์พยานในความจริงกับการเปลี่ยนใจเลื่อมใสอย่างแท้จริง ตัวอย่างเช่นเปโตรอัครสาวกที่ยิ่งใหญ่กล่าวคำพยานถึงพระผู้ช่วยให้รอดว่าเขารู้ว่าพระเยซูคือพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า
“[พระเยซู] ตรัสถามเขาทั้งหลายว่า แล้วพวกท่านเล่าว่าเราเป็นใคร?
“ซีโมนเปโตรทูลตอบว่า พระองค์เป็นพระคริสต์พระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อย
“พระเยซูตรัสกับเขาว่า ซีโมนบุตรโยนาห์เอ๋ย ท่านก็เป็นสุขเพราะมนุษย์ไม่ได้เปิดเผยเรื่องนี้แก่ท่าน แต่พระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์ทรงเปิดเผยให้ทราบ” (มัทธิว 16:15–17)
ต่อมา ในพระบัญชาถึงเปโตร พระเจ้าประทานแนวทางการเปลี่ยนใจเลื่อมใสอย่างแท้จริงและขยายผลของการเปลี่ยนใจเลื่อมใสนั้นชั่วชีวิตแก่เขาและเรา พระเยซูตรัสดังนี้ “เมื่อท่านหันกลับแล้ว จงชูกำลังพี่น้องทั้งหลายของท่าน” (ลูกา 22:32)
พระเยซูทรงสอนเปโตรว่ายังมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่อยู่เหนือกว่าการมีประจักษ์พยานเพื่อจะสามารถคิด รู้สึก และกระทำเฉกเช่นสานุศิษย์ที่เปลี่ยนใจเลื่อมใสพระเยซูคริสต์อย่างแท้จริง นั่นคือการเปลี่ยนแปลงอันลึกล้ำที่เราทุกคนแสวงหา ทันทีที่ได้มา เราต้องให้การเปลี่ยนแปลงนั้นดำเนินต่อไปจนสิ้นสุดการทดสอบขณะอยู่ในชีวิตมรรตัย (ดู แอลมา 5:13–14)
เรารู้จากประสบการณ์ของเราเองและจากการสังเกตผู้อื่นว่าการมีช่วงเวลาสำคัญของพลังทางวิญญาณเพียงไม่กี่ช่วงจะไม่เพียงพอ เปโตรปฏิเสธว่ารู้จักพระผู้ช่วยให้รอดหลังจากเขาได้รับพยานโดยพระวิญญาณแล้วว่าพระเยซูคือพระคริสต์ พยานสามคนของพระคัมภีร์มอรมอนมีประจักษ์พยานประทานให้พวกเขาโดยตรงว่าพระคัมภีร์มอรมอนเป็นพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า แต่ต่อมาพวกเขาไม่มั่นใจว่าจะสามารถสนับสนุนโจเซฟ สมิธเป็นศาสดาพยากรณ์ของศาสนจักรของพระเจ้า
เราต้องการการเปลี่ยนแปลงในใจดังอธิบายไว้ในหนังสือของแอลมาว่า “และคนทั้งหมดนั้นประกาศเรื่องเดียวกันแก่ผู้คน—ว่าใจพวกเขาเปลี่ยนแปลงแล้ว; ว่าพวกเขาไม่มีความปรารถนาจะทำความชั่วอีกต่อไป” (แอลมา 19:33; ดู โมไซยาห์ 5:2 ด้วย)
พระเจ้าทรงสอนเราว่าเมื่อเราเปลี่ยนใจเลื่อมใสพระกิตติคุณของพระองค์อย่างแท้จริง ใจเราจะเปลี่ยนจากความกังวลแต่เรื่องตนเองเป็นการรับใช้เพื่อพยุงผู้อื่นขณะพวกเขาก้าวขึ้นสู่ชีวิตนิรันดร์ เพื่อให้ได้การเปลี่ยนใจเลื่อมใสเช่นนั้น เราสามารถสวดอ้อนวอนและทำงานในศรัทธาเพื่อให้การชดใช้ของพระเยซูคริสต์ทำให้เราเป็นคนใหม่

เราเริ่มได้โดยสวดอ้อนวอนขอศรัทธาเพื่อกลับใจจากความเห็นแก่ตัวและขอของประทานแห่งการเอาใจใส่ผู้อื่นมากกว่าตัวเราเอง เราสามารถสวดอ้อนวอนขอให้มีพลังละทิ้งความจองหองและความอิจฉา
การสวดอ้อนวอนจะเป็นกุญแจสำหรับการได้รับของประทานแห่งความรักต่อพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าและสำหรับความรักของพระคริสต์เช่นกัน (ดู โมโรไน 7:47–48)ความรักทั้งสองมาด้วยกัน ขณะที่เราอ่านไตร่ตรอง และสวดอ้อนวอนเกี่ยวกับพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า เราจะรักพระวจนะนั้น พระเจ้าทรงใส่ความรักนั้นไว้ในใจเราเมื่อเรารู้สึกถึงความรักนั้น เราจะเริ่มรักพระเจ้ามากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยความรักนั้นเราจะรักคนที่เราต้องรักเพื่อเสริมกำลังคนที่พระผู้เป็นเจ้าทรงวางไว้ในเส้นทางของเรา
ตัวอย่างเช่น เราสามารถสวดอ้อนวอนให้รู้จักคนที่พระเจ้าทรงประสงค์ให้ผู้สอนศาสนาของพระองค์สอน ผู้สอนศาสนาเต็มเวลาสามารถสวดอ้อนวอนในศรัทธาเพื่อรู้โดยพระวิญญาณว่าจะสอนและเป็นพยานเรื่องใด พวกเขาสามารถสวดอ้อนวอนในศรัทธาขอให้พระเจ้าทรงทำให้พวกเขารู้สึกถึงความรักที่ทรงมีต่อทุกคนที่พวกเขาพบผู้สอนศาสนาจะไม่นำทุกคนที่พบมาสู่น้ำแห่งบัพติศมาและรับของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ แต่พวกเขาสามารถมีพระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นเพื่อนได้ โดยผ่านการรับใช้ของพวกเขาและด้วยความช่วยเหลือของพระวิญญาณบริสุทธิ์ ใจพวกเขาจะเปลี่ยนในที่สุด
การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าขณะพวกเขาและเรายังคงปฏิบัติในศรัทธาโดยไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อยอย่างต่อเนื่องชั่วชีวิตเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ผู้อื่นด้วยพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ การเปลี่ยนใจเลื่อมใสจะไม่เป็นเหตุการณ์ครั้งเดียวหรือเป็นสิ่งที่จะคงอยู่เพียงช่วงหนึ่งของชีวิตแต่จะเป็นกระบวนการต่อเนื่อง ชีวิตจะเจิดจ้ามากขึ้นจนถึงวันที่สมบูรณ์เมื่อเราจะเห็นพระผู้ช่วยให้รอดและพบว่าเราเป็นเหมือนพระองค์ พระเจ้าทรงอธิบายการเดินทางดังกล่าวในทำนองนี้ “สิ่งซึ่งมาจากพระผู้เป็นเจ้าเป็นความสว่าง; และคนที่รับความสว่าง, และดำเนินอยู่กับพระผู้เป็นเจ้าต่อไป, รับความสว่างมากขึ้น; และความสว่างนั้นเจิดจ้ายิ่งขึ้นๆ จนถึงวันที่สมบูรณ์” (คพ. 50:24). ข้าพเจ้าสัญญากับท่านว่านี่เป็นไปได้สำหรับเราแต่ละคน